
วัดป่านาคำน้อย
วัดอุดมมงคลวนาราม
วัดป่านาคำน้อย เดิมชื่อ วัดอุดมมงคลวนาราม เป็นนามที่ได้รับเมตตาประทานจาก
หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน แต่ต่อมาทางราชการมีแนวคิดเกี่ยวกับการตั้งชื่อวัด
ให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านที่ตั้งของวัด จึงได้ใช้นามว่า “วัดป่านาคำน้อย” ในปัจจุบัน
สถานที่ตั้งวัด ตั้งอยู่บ้านนาคำน้อย หมู่ที่ ๗ บ้านนาคำน้อย
ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี รหัสไปรษณีย์ ๔๑๓๘๐
มีพื้นที่ในปัจจุบัน ๑,๓๕๐ ไร่ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
ประวัติการก่อตั้งวัด
วัดป่านาคำน้อย ได้รับการตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๙ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๑ ตามบัญชีรายชื่อวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
งวดที่ ๖ ประจำปี ๒๕๓๐ ลำดับที่ ๓๖ วัดนาคำน้อย ตำบลบ้านก้อง อำเภอน้ำโสม (ในขณะนั้น) จังหวัดอุดรธานี ขนาดวิสุงคามสีมากว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๕ ตอนที่ ๑๔ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๓๑
กองพุทธสถานกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑
เพื่อดำเนินตามแนวทางที่องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
ได้เมตตาชี้แนะไว้ว่า “สถานที่นี้เหมาะสำหรับผู้สนใจภาวนาเพราะเป็นป่า เป็นเขาสงบสงัด”

สภาพก่อนที่จะต้องเป็นวัด
องค์หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก ขณะนั้นจำพรรษอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด
ได้ธุดงค์มาในเขตนี้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ ในขณะนั้นเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายูง และป่าน้ำโสม
มีสภาพทรุดโทรม และเป็นพื้นที่ป่าที่ได้รับสัมปทานไปแล้วหลายวาระ ประกอบกับเป็นพื้นที่สีแดง
อยู่ในเขตปฏิบัติการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย น่าจะได้รับการฟื้นฟูทั้งทางรูปธรรม
และนามธรรม โดยที่องค์หลวงพ่อได้เคยวิเวกมาในแถบนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมา หลายวาระด้วยกัน
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ธุดงค์มาอีกรอบหนึ่ง ในครั้งนี้ ได้ธุดงค์มาปักกลด
ณ บริเวณต้นกระท้อน ริมห้วยราง (ตรงบริเวณที่เป็นโรงครัวในปัจจุบัน) เห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะ
เหมาะสมกับการปฏิบัติสมณธรรม จึงได้นำคณะศรัทธาญาติโยมพุทธบริษัท
ร่วมกันก่อสร้างเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐานดำเนินตาปฏิปทา
องค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ภายในบริเวณวัดวัด
สภาพป่าภายในบริเวณวัดเป็นป่าที่สมบูรณ์ประมาณ ๖๐๐ ไร่ แต่ได้รับการปลูกเสริมเพิ่มเติม
เช่น สัก ประดู่ มะค่า ยาง กระบาก ตะแบก ตะเคียนทอง เป็นต้น
ปัจจุบันได้ปลูกเสริมจนเต็มพื้นที่ จึงสามารถมองเห็นสภาพป่าดั้งเดิมและปลูกเสริมใหม่เจริญเติบโตร่วมกัน
สัตว์ป่าภายในวัด
เนื่องจากพื้นที่นี้แต่เดิมเป็นป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่
เช่น หมูป่า กระรอก ค่าง ลิง ชะนี งูจงอาง งูเห่า เหี้ย กระจง นิ่ม และนกชนิดต่าง ๆ
สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัด
ภายในวัดประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญหลักๆเช่น
ศาลาอเนกประสงค์ ขนาด ๒ ชั้น พื้นที่กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
เป็นสถานที่ที่พระสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม เป็นที่ฉันภัตตาหาร เป็นที่บำเพ็ญกุศลในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น
ศาลาศาลาพุทธอุดมมงคลธรรมสังฆสามัคคี เป็นศาลาชั้นเดียว ยกพื้น สร้างบริเวณตรงข้ามกับวัด
หรือสวนลำไย สร้างขึ้นเพื่อลดความแออัดและรองรับศรัทธาญาติโยมที่มาวัดเพิ่มมากขึ้น
และเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆ ของวัด
เช่น งานทำบุญรวมญาติ ซึ่งจัดตรงกับวันมาฆบูชาประจำทุกปี
งานทำบุญในวันคล้ายวันเกิดองค์หลวงพ่อ ในวันที่ ๒๗ เมษายน ของทุกปี
และงานกฐินสามัคคีของทางวัด
นอกจากนี้ภายในวัดยังมีกุฏิถาวร ประมาณ ๑๕ หลัง และร้านพักพระประมาณ ๔๐ หลัง
โรงน้ำร้อน โรงครัว และที่พักฝ่ายอุบาสก อุบาสิกาจำนวน รวม ๑๔ หลัง
และถนนคอนกรีตเชื่อมโยงภายในวัดรวมเส้นทางกว่า ๔ กม.
เมตตาจากองค์หลวงตา
องค์หลวงตาได้มีเมตตาต่อวัดป่านาคำน้อยอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ
การสร้างกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดความสูง ๒.๓๕ เมตร ยาว ๖.๗๕ กิโลเมตร
ครอบคลุมพื้นที่ ๑,๓๕๐ ไร่ มูลค่า ๒๐ ล้านบาทเศษ ( พ.ศ. ๒๕๓๘)
และฝายน้ำล้น ฝายเก็บกักน้ำหลายแห่งภายในวัด
ได้รับเมตตาอุปถัมภ์ในการก่อสร้าง จากองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ที่ได้มาอาศัยอยู่ให้ได้รับความร่มเย็นตาม อัตภาพ
สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน
เป็นที่ตั้งของลูกข่าย สถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน
รับสัญญาณจากสถานีแม่ข่ายจากวัดป่าบ้านตาด ขนาดคลื่นความถี่ ๑๐๗.๒๕ MHZ
ครอบคลุม พื้นที่อำเภอบ้านผือ น้ำโสม นายูง (จังหวัดอุดรธานี) สุวรรณคูหา (จังหวัดหนองบัวลำภู) สังคม(จังหวัดหนองคาย) และจังหวัดเลยบางส่วน
จำนวนพระสงฆ์จำพรรษา
ในแต่ละปีจะมีพระสงฆ์จำพรรษา ประมาณ ๓๐-๔๐ รูป
โดยแต่ละช่วงตลอดปีจะมีพระสงฆ์จากกรุงเทพฯ มาพำนักปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ
เช่น วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธฯ เป็นต้น ในฤดูจำพรรษา ก็จะมีอุบาสกอุบาสิกามาอยู่จำศีลอยู่เสมอ
